ประวัติความเป็นมาตำบลไชยสถาน
ตำบลไชยสถาน ได้ชื่อจากการตั้งชื่อวัดไชยสถาน หรือใจสถาน อันเป็นชื่อที่ตั้งให้กับ หนานใจ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวัดขึ้นจากวัดร้างชื่อวัดน้อย ในปี พ.ศ. 2387 ต่อมาเมื่อมีการขยายพื้นที่ของอำเภอ จึงได้เพิ่มเขตปกครองท้องถิ่นขึ้น ตั้งเป็นตำบลไชยสถานตามชื่อของหนานใจ และเปลี่ยนเป็นไชยสถาน อันหมายถึง สถานที่อันเป็นชัยยะมงคล
ตำบลไชยสถาน ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของ อำเภอสารภี ประกอบไปด้วย 8 หมู่บ้าน ได้แก่..
หมู่ที่ 1 บ้านต้นโชคหลวง
หมู่ที่ 2 บ้านศรีสองเมือง
หมู่ที่ 3 บ้านศรีบุญเรือง
หมู่ที่ 4 บ้านนันทาราม
หมู่ที่ 5 บ้านยวม
หมู่ที่ 6 บ้านโพธิมงคล
หมู่ที่ 7 บ้านเชียงขาง
หมู่ที่ 8 บ้านต้นยางหลวง
ประวัติความเป็นมาของบ้านต้นโชคหลวง
บ้านต้นโชคหลวง มีพื้นที่ประมาณ ๔๕ ไร่ มีรูปลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ปรากฏปีที่สร้างและผู้สร้าง ข้อสันนิษฐานของชาวบ้านว่า ตั้งชื่อบ้านต้นโชคหลวง ตามชื่อต้นโชค หรือต้นตะครือป่าโชค ซึ่งมีอยู่บริเวณนี้มาก ชาวบ้านนิยมปลูกถือว่าเป็นไม้มงคล..
ประวัติความเป็นมาของบ้านศรีสองเมือง
บ้านศรีสองเมือง หมู่ ๒ เดิมชื่อว่า บ้านพันกลอย ออกเสียง “ ปันก๋อย ” กลอย เป็นพืชมีหัว ตระกูลมัน นำหัวมาตมกิน หรือนึ่งกินได้ มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๐ ไร่ มีรูปลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่เดิมหมู่บ้านนี้เต็มไปด้วยสัตว์ต่าง ๆ มากมาย เช่น งู เสือ ฯลฯ เป็นป่ารก จนชาวบ้านไม่กล้าที่จะเข้าไป จึงเรียกว่า พันกลอย (เป๋นดีกั๊ว) ต่อมามีพระภิกษุได้พาชาวบ้านหักร้างถางพง พบซากเจดีย์ อุโบสถ จึงทำการบูรณะให้เป็นศูนย์กลางของการตั้งบ้าน (สร้างหมู่บ้าน) เรียกชื่อว่า วัดพันกลอย และได้มีคำบอกเล่าว่า บริเวณกลางประตูวัดด้านเหนือ ผู้สร้างได้บรรจุเต่าทองคำไว้ และเขียนลายแทงว่าให้ขุดขึ้นมาได้สำหรับบูรณะวัด และให้ชื่อว่า บ้านพันกลอย บริเวณใกล้ ๆ กันพบวัดร้างอีก ๒ วัด ตั้งเฉียงเป็นสามเหลี่ยมเรียกว่า วัดสามเส้า ต่อมาทั้ง ๓ วัดนี้ได้ร้างไป จนกระทั่งพระภิกษุเทพินได้บูรณะขึ้นใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีสองเมือง หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อตามชื่อวัดว่า บ้านศรีสองเมือง อันหมายถึง สะหรี (มิ่งขวัญ) ของเมือง (บ้าน) ชาวบ้านอพยพมาอยู่ส่วนใหญ่จะอพยพมาจากบ้านต้นโชตหลวง..
ประวัติความเป็นมาของบ้านศรีบุญเรือง
บ้านศรีบุญเรือง หมู่ 3 มีพื้นที่ 471 ไร่ รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมชื่อ บ้านโรงวัว จากคำบอกเล่า ๆ ว่า บ้านนี้เป็นที่ตั้งโรง (ผาม) สำหรับเลี้ยงวัวของเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ เพื่อจะใช้ในการขนข้าวที่เกี่ยวแล้วไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ภายหลังเมื่อไม่มีการเลี้ยงวัว ชาวบ้านจึงจั้งชื่อใหม่เป็นบ้านศรีบุญเรือง อันหมายถึง ต้นโพธิ์ (ศรี – สะหรี) ที่ผู้มีบุญนำมาปลูกไว้เพื่อเป็นที่เคารพบูชาเพื่อความเป็นศิริมงคล มีความเจริญรุ่งเรือง..
ประวัติความเป็นมาของบ้านนันทาราม
บ้านนันทาราม หรือ นันตะราม หมู่ ๔ มีพื้นที่ประมาณ ๒๘๙ ไร่ ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู หมู่บ้านนี้เป็นชาวไทยเขิน ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงตุงในช่วงของพระเจ้ากาวิละ นำโดยส่างนันต๊ะ เมื่อมาตั้งบ้านจึงตั้งชื่อตามผู้นำ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำเครื่องเขิน เครื่องเงิน ต่อมาชาวบ้านบางกลุ่มได้อพยพไปอยู่ในเขตอำเภอเมือง (บ้านนันทาราม) และที่อำเภอหางดง (บ้านหารแก้ว) แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันจวบจนปัจจุบัน..
ประวัติความเป็นมาของบ้านยวม
บ้านยวม (ริมกวง) หมู่ 5 มีเนื้อที่ประมาณ 580 ไร่ จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านได้ความว่า สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2350 รูปลักษณ์ของหมู่บ้านคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านเล่าอีกว่า บริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน มีต้นยวม ขึ้นอยู่หนาแน่น ชาวบ้านยังได้เก็บไปเป็นอาหาร และอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านที่มาร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองนั้น เป็นชาวไตที่อพยพมาจากบ้านยวม ในเขตของพม่า เมื่อมาตั้งบ้านจึงใช้ชื่อตามบ้านเดิมที่ตนอพยพมา..
ประวัติความเป็นมาของบ้านโพธิมงคล
บ้านโพธิมงคล หมู่ 6 เดิมชื่อว่า "..บ้านมังกะละโป.." สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2400 มีพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ หัวหน้าทหารพม่าเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประวัติความเป็นมาจากตำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีทหารพม่านำกองทัพมาพัก ณ ที่แห่งนี้ แล้วสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่พัก เพื่อให้จิตใจสงบ หัวหน้าทหารพม่า ชื่อ มังกะละ ชาวบ้านเรียกว่า วัดมังกะละโป (คำว่า โป ในภาษาพม่า แปลว่า หัวหน้า) ตามชื่อผู้สร้าง มีข้อน่าสังเกตว่า วัดนี้จะหันหน้าไปทางทิศเหนือซึ่งแตกต่างไปจากวัดในละแวดอื่น ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และต่อมาชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "มังกะละโป" ต่อมาชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า หมู่บ้านโพธิมงคล
ประวัติความเป็นมาของบ้านเชียงขาง
บ้านเชียงขาง หมู่ 7 มีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ รูปลักษณ์ของหมู่บ้านเป็นรูปสามเหลี่ยม ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2385 ชาวบ้านอพยพมาจากบ้านเชียงขาง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อมาตั้งบ้านก็ใช้ชื่อบ้านเดิมที่เคยอยู่ ประกอบอาชีพทำของ (เหล็กหล่อ) เป็นกะทะ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "หม้อขาง" และการค้าขายระหว่างเมืองเชียงใหม่ เชียงแสน และเชียงตุง โดยใช้วัวต่าง ม้าต่าง ว่าเป็นพ่อค้าวัวต่าง..
ประวัติความเป็นมาของบ้านต้นยางหลวง
บ้านต้นยางหลวง หมู่ ๘ มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๐ ไร่ รูปลักษณ์ของหมู่บ้านเป็นรูปวงกลม จากคำบอกเล่า ๆ ว่า มีพระภิกษุทางใต้ได้ธุดงค์มาเห็นบริเวณนี้ร่มครึ้มด้านต้นยาง และป่าละเมาะ จึงสร้างวัดขึ้น เรียกชื่อวัดต้นยางหลวง ตามต้นยางที่มีอยู่บริเวณนั้น เมื่อชาวบ้านมาพบพระภิกษุเกิดศรัทธาเลื่อมใสพากันอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ และตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อวัดว่า บ้านต้นยางหลวง..